ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ การท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี คำขวัญประจำจังหวัดปัตตานี บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด

สถานที่สำคัญจังหวัดปัตตานี


ศาลหลักเมืองจังหวัดปัตตานี

citypillarshrine
ศาลหลักเมืองจังหวัดปัตตานี สร้าง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 สมัยพระยารัตนภักดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองปัตตานีและนักท่องเที่ยว จะพากันไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ
ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปศาลหลักเมืองจังหวัดปัตตานี
ตั้งอยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ในโรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดปัตตานีตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี


มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี

centralmosque
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาดำเนินการสร้างประมาณ 9 ปี และทำพิธีเปิดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบ ศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้าง บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้างภายในห้องโถงด้านในมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบ
ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
ตั้งอยู่ที่ถนนยะรัง เส้นทางยะรัง-ปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี

เมืองโบราณยะรัง

         เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของ ประเทศไทยและเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า “ลังกาสุกะ” หรือ “ลังยาเสียว” ตามที่มีหลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วย
- เมืองโบราณบ้านวัด มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบกว่า 25 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ

- เมืองโบราณบ้านจาเละ มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำ โอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทางทิศ เหนือประมาณ 1 กิโลเมตร

- เมืองโบราณบ้านปราแว เป็นเมืองคูน้ำ คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง 4 มุมเมือง และมีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ทั้ง 2 ด้าน

           นอกจากร่องรอยของคูน้ำ  คันดินคูเมืองโบราณทั้ง 3 แห่งแล้วภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้ ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 แห่ง  การเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงหมายเลข 410) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงหมายเลข 4061) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ  400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ

วัดช้างให้   วัดช้างให้

       
         วัดช้างให้ หรือวัดราษฎร์บูรณะ เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศตั้งอยู่ริมทางรถไปสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก หรือทางรถยนต์ สายปัตตานี – หนองจิก - นาเกตุ-นาประดู่-ยะลา ห่างจากตลาดนาประดู่ประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองปัตตานี 30 กิโลเมตร         วัดช้างให้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีแล้ว ไม่ทราบชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่จากตำนานความเชื่อกล่าวว่า พระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิษฐานปล่อยช้างออกเดินป่าโดยมีเจ้าเมืองไพร่พลและบริวารออกเดินติดตาม เวลาล่วงเลยไปหลายวันจนกระทั่งวันหนึ่งช้างเสี่ยงทายได้หยุดอยู่ที่ป่า พร้อมทั้งเดินวนเวียนแล้วร้องขึ้น 3 ครั้ง พระยาแก้มดำ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี จึงจะใช้บริเวณดังกล่าวสร้างเมืองแต่น้องสาวไม่ชอบ จึงให้ช้างออกเดินทางหาทำเลใหม่ พระยาแก้มดำจึงสร้างวัดตรงบริเวณดังกล่าวแทนแล้วขนานนามว่า “วัดช้างให้” หลังจากที่พระยาแก้มดำได้เดินทางกลับถึงเมืองไทรบุรี ได้นิมนต์พระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ท่านลังกา” หรือ “สมเด็จพะโคะ” หรือ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านลังกาได้เดินทางธุดงค์ไปมาระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างไห้และได้สั่งลูกศิษย์ว่าถ้าท่านมรณภาพขอให้นำศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้เมื่อท่านมรณภาพที่เมืองไทรบุรี  ลูกศิษย์ได้หามศพเดินทางหยุดที่ใดก็จะปักไม้ไว้ (ปัจจุบันจึงมีสถูปตามที่ต่างๆ) เมื่อถึงวัดช้างให้ก็ทำการฌาปนกิจศพ ลูกศิษย์ก็นำอัฐิส่วนหนึ่งกลับไปเมืองไทรบุรีและส่วนหนึ่งฝังที่วัดช้างไห้โดยปักแก่นไม้เป็นเครื่องหมายไว้ (ขณะนี้ได้บูรณะสร้างเป็นสถูปอยู่ติดกับทางรถไฟ) มีผู้คนมากราบไหว้บนบานอธิษฐานได้ผลตามประสงค์ความศักดิ์สิทธิ์จึงเลื่องลือไปไกล หลังจากนั้นวัดช้างให้ก็ร้างไปนาน   พ.ศ.2480 พระครูมนูญสมภารเจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ เจ้าคณะตำบลทุ่งพลาให้พระช่วงมาเป็นเจ้าอาวาส พระช่วงได้ชักชวนบ้านมาแผ้วถางป่าสร้างกุฏิศาลาการเปรียญหลังคามุงจากพร้อมเสนาสนะอื่นๆ และได้ลากสิกขาเมื่อปี พ.ศ. 2484         พ.ศ.2484 พระอาจารย์ทิม ธมมธโร (พระครูวิสัยโสภณ) เป็นเจ้าอาวาสตั้งชื่อตามหลักฐานกรมการศาสนาว่า “วัดราษฎร์บูรณะ” สร้างศาลาการเปรียญใหม่ กุฏิ 8 หลัง สร้างหอฉัน (โรงครัว) สร้างหอระฆัง สร้างพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พ.ศ.2497 สร้างอุโบสถ สร้างวิหารประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อทวด สร้างสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด และพระอาจารย์ทิม ธมมธโร มรณภาพปี พ.ศ.2512 (เป็นเจ้าอาวาส 28 ปี)  พ.ศ.2512 พระครูใบฎีกาขาวเป็นเจ้าอาวาสได้จัดงานพิธียกฉัตรทองยอดเจดีย์และปรับปรุงสถูปสมเด็จหลวงพ่อทวด จัดซื้อที่ดินและสร้างอาคารโรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ สังกัดกรมสามัญศึกษา (เป็นเจ้าอาวาส 9 ปี)  พ.ศ.2521 พระครูอนุกูลปริยัติกิจ (สวัสดิ์ อรุโณ) เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงปัจจุบันได้จัดตั้งมูลนิธิสมเด็จหลวงพ่อทวดและพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมมธโร) วัดช้างให้ ให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร-นักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ สร้างกุฏิ สร้างหอประชุมที่พักสงฆ์ สร้างโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เห็นชอบให้เช่าที่ธรณีสงฆ์จำนวน 50 ไร่เศษ เป็นที่จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างให้สร้างสถานีรถไฟวัดช้างให้ บริจาคเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างๆ และบริจาคเงินสิ่งของอื่นๆ แก่ทางราชการอีกมากมาย



มัสยิดกรือเซะ

                                    
            มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 7 กม.เป็นมัสยิดเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถาน ที่สร้างขึ้น ในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบเสากลม รูปลักษณะแบบเสาโกธิกของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้ง แหลมและโค้งมน ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ หลังคาโดม ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมากพร้อมด้วยสิ่ง- ก่อสร้างอื่น ๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง (ซึ่งจุน้ำได้ถึง 120,000 ลิตร) มัสยิดกรือเซะนี้ สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานีและได้เปลี่ยน มานับ ถือศาสนาอิสลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับ เมืองจีนแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่ง ขออย่าให้สร้าง มัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้า มัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้า ต่อมาได้มีการ อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาล เมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ( ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานี และชาวจังหวัด ใกล้เคียง ในเดือน 3 ของทุกปี ( กุมภาพันธ์-มีนาคม ) จะมีพิธีเซ่นไหว้และแห่เจ้าแม่ นับว่าเป็นพิธีที่สนุก- สนานมาก ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศ ฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ คงเหลือซากทิ้งไว้ตราบเท่าทุกวันนี้ครับ



ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) 

  
          
           ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นศาลที่ประดิษฐานรูปแกะสลัก ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนและชาวไทยโดยทั่วไปมาก ประวัติการสร้างหรือความเป็นมาของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีการเล่าสืบต่อๆ กันมาเป็นตำนานที่เกี่ยวกับประวัติเมืองปัตตานี จากการศึกษาจากการบันทึกในสมัยราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ. 2064-2109) เมื่อประมาณกว่า 400 ปี กล่าวว่า ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่ชาย ชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นชาวเมืองฮุยไล้ แขวงเมืองแต้จิ๋ว เดิมลิ้มโต๊ะเคี่ยมรับราชการอยู่ที่เมืองดังกล่าว ครั้งเมื่อสิ้นบุญบิดาแล้วจึงมารับราชการที่เมืองจั่วจิว ในช่วงที่โจรสลัดญี่ปุ่นกำเริบหนัก ทางเมือหลวงได้แต่งตั้งขุนพล เช็ก กี กวง เป็นแม่ทัพเรือปราบสลัดญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสดีของคู่อริที่จะใส่ความลิ้มโต๊ะเคี่ยม ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงหนีไปยังเกาะกีลุ่ง (เกาะไต้หวัน) และหนีต่อไปยังเกาะลูวอน (ฟิลิปปินส์) แต่ต้องปะทะกับกองเรือของสเปนที่ยึดครองอยู่ หลังจากนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเดินทางมายังปัตตานี ได้ทำงานเป็นนายด่านเก็บภาษี ต่อมาจึงได้สร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งหนึ่งชื่อ “โต๊ะเคี่ยม” ภายหลังลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามมีภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานีเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองปัตตานีจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหัวหน้าด่านเก็บส่วยสาอากรต่างๆ
           ทางเมืองจีนมารดาและน้องสาว สืบเสาะข่าวก็ไม่ทราบ ลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวจึงขออนุญาตมารดาออกติดตามพี่ชายและนำกองเรือมาถึงเมืองปัตตานี ได้พบพี่ชายและขอร้องให้พี่ชายเดินทางกลับเมืองจีน พี่ชายได้รับปากกับเจ้าเมืองปัตตานีไว้ว่าจะสร้างมัสยิดประจำเมืองให้แล้วเสร็จ ลิ้มกอเหนี่ยวไม่ละความพยายามจึงขอพักอยู่ที่เมืองปัตตานีต่อไป เพื่อหาโอกาสอันควรชักชวนให้พี่ชายกลับ ต่อมาเมืองปัตตานีเกิดการกบฎแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ภายหลังเจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรม ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเข้าร่วมต่อสู้กับกบฏ ลิ้มกอเหนี่ยวเข้าช่วยพี่ชายแต่พิจารณาเห็นว่าสู้ข้าศึกไม่ได้ จึงฆ่าตัวตายไม่ยอมตายด้วยอาวุธของศัตรู จากการกระทำอย่างอาจหาญและเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชายชาตรีของลิ้มกอเหนี่ยว ได้ก่อให้ชาวจีนในปัตตานีมีความศรัทธาในตัวนางจึงแกะสลักรูปลิ้มกอเหนี่ยวประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าใกล้มัสยิดกรือเซะที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างไว้ไม่สำเร็จ
          ต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีความศักดิ์สิทธิ์จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวได้ฟังคำปฏิเสธของพี่ชายที่ไม่ยอมเดินทางกลับเมืองจีน จึงอธิษฐานขอให้การก่อสร้างมัสยิดกรือเซะไม่สำเร็จและผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้มัสยิดกรือเซะ ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับมารดาก่อนจะออกเดินทางมาตามหาพี่ชาย เมื่อย้ายเมืองปัตตานีไปที่วังจะบังติกอ ชาวจีนในเมืองปัตตานีก็ย้ายชุมชนจากกรือเซะไปสร้างชุมชนชาวจีน ที่ตำบลอาเนาะรู และสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนำรูปแกะสลักเจ้าแม่มาประทับ ณ ศาลเจ้าแม่แห่งนี้เพื่อสักการะจนถึงปัจจุบันนี้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่างๆ ภายในตัวเมืองฯ ทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต ในงานนี้มีผู้ที่เคารพศรัทธาเป็นมาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น